4 เหตุผลที่ผมคิดว่าโปรแจ๊ส อติวิชญ์ เจนวัฒนานนท์ อาจเป็นนักกอล์ฟไทยคนแรกที่คว้าแชมป์เมเจอร์

4 เหตุผลที่ผมคิดว่าโปรแจ๊ส อติวิชญ์ เจนวัฒนานนท์ อาจเป็นนักกอล์ฟไทยคนแรกที่คว้าแชมป์เมเจอร์
GDO Thailand

Jazz Janewattananond จังหวะสวิงที่แฝงไว้ด้วยความมั่นใจ

          ฤดูกาลการแข่งขันกอล์ฟปี 2019 เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว คงไม่มีนักกอล์ฟไทยคนไหนที่ฟอร์มร้อนแรงไปกว่าน้องจีน อาฒยา ฐิติกุล ที่เพิ่งก้าวสู่ตำแหน่งนักกอล์ฟมือสมัครเล่นหญิงหมายเลขหนึ่งของโลกไปหมาด ๆ แต่ในฟากของนักกอล์ฟอาชีพชาย ชื่อ ‘แจ๊ส’ อติวิชญ์ เจนวัฒนานนท์ (Jazz Janewattananond) กลับเป็นนามที่ปรากฎอยู่บนข่าวสารวงการกอล์ฟไทยมากที่สุดจากผลงานอันยอดเยี่ยม ทั้งการคว้าแชมป์กอล์ฟ Asian Tour รายการ Kolon The 62th Korea Open และ SMBC Singapore Open ที่ทำให้ โปรแจ๊สครองอันดับหนึ่งนักกอล์ฟทำเงินรางวัลสูงสุดของทั้ง Asian Tour และ Japan Tour อยู่ในปัจจุบัน (2 ก.ค. 2019) และขยับอันดับโลกขึ้นไปรั้งที่ 52 ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดนับตั้งแต่เทิร์นโปรในปี 2010

          ในช่วงที่วงการกอล์ฟไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน นักกอล์ฟที่บุกเบิกกรุยทางความสำเร็จในระดับโลกอย่างธงชัย ใจดี, ถาวร วิรัตน์จันทร์ แตะมือส่งผ่านแรงบันดาลใจให้กับนักกอล์ฟรุ่นน้องอย่างโปรอาร์ม กิรเดช อภิบาลรัตน์ และโปรแจ๊ส อติวิชญ์ เจนวัฒนานนท์ เพื่อสืบต่อการสร้างชื่อเสียงของประเทศไทยในวงการกอล์ฟนานาชาติ ขณะที่โปรอาร์มกำลังขะมักเขม้นกับการฝึกซ้อมเพื่อปรับรูปแบบการเล่นให้เข้ากับการแข่งขันใน PGA Tour ให้สามารถรักษาทัวร์การ์ดไว้ให้ได้ โปรแจ๊สก็ได้สร้างเสริมประสบการณ์และความมั่นใจในการแข่งขัน ทั้งระดับ Asian Tour ที่ Co-sanction กับ European Tour และรายการเมเจอร์อย่าง PGA Championship ซึ่งทำผลงานได้ดีจนทำให้ Golfistathai เชื่อว่านอกจากโปรอาร์มแล้ว ก็มีโปรแจ๊สนี่แหละที่อาจจะสร้างเซอร์ไพรซ์ให้กับคนไทยด้วยการเป็นนักกอล์ฟไทยที่สามารถคว้าแชมป์เมเจอร์ของกอล์ฟชายมาได้สำเร็จ หลังจากที่โปรเม – เอรียา สามารถคว้ามาได้แล้ว 2 รายการในฝั่งของกอล์ฟสตรี โดยผมมีเหตุผล จำนวน 5 ประการที่สนับสนุนว่าทำไมผมจึงเชื่อว่าโปรแจ๊ส อติวิชญ์ มีศักยภาพในการก้าวไปอยู่ในระดับแชมป์เมเจอร์ได้ในวันใดวันหนึ่ง

 

1.โปรแจ๊สมีฟอร์มการเล่นที่สม่ำเสมอ

          ผลงานของโปรแจ๊สในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา สามารถการันตีฟอร์มการเล่นที่คงเส้นคงวาได้เป็นอย่างดี โดยนับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา โปรแจ๊สชนะการแข่งขัน Asian Tour อย่างน้อยปีละ 1 รายการ เว้นแต่ปี 2019 ที่ในปัจจุบันสามารถคว้าแชมป์มาได้ 2 รายการ และอาจเพิ่มมากกว่านั้นเมื่อสิ้นฤดูกาล ความสม่ำเสมอ (consistency) เป็นเป้าหมายที่จำเป็น แต่ยากจะได้มาในกีฬากอล์ฟ ซึ่งเป็นเกมแห่งความผิดพลาด ตีดีในวันนี้ก็อาจตีออกทะเลในวันรุ่งขึ้นได้ ผลงานของโปรแจ๊สในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของการเล่นที่ ‘โต’ มากขึ้น และความมั่นใจที่สั่งสมจากฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมในหลายรายการ ทำให้เชื่อว่าอีกไม่นาน เราน่าจะได้เห็นชื่อของโปรแจ๊สไปปรากฎอยู่บน Leaderboard ของ PGA Tour ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบ้านของเมเจอร์ 3 รายการ รวมถึง The Masters และ US Open ซึ่งโปรแจ๊สอยากได้มีโอกาสลงแข่งขันด้วย

 

Embed from Getty Images

2.โปรแจ๊สมีระยะไดร์ฟเฉลี่ยที่สามารถแข่งขันใน PGA Tour ได้

          การแข่งขันเป็นหลักใน PGA Tour มีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมรูปแบบการเล่นที่เหมาะสมกับการแข่งขันในรายการเมเจอร์ทั้ง US Open และ PGA Championship โดยเฉพาะการฝึกเล่นลูกสไตล์ต่าง ๆ ช็อตแก้ไขเอาตัวรอด ตลอดจนการพัตต์บนกรีนที่ทำมาจากหญ้าประเภทต่าง ๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันคือการปรับระยะไดร์ฟให้สอดคล้องกับระยะความยาวของสนามกอล์ฟในสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม้กอล์ฟที่ช่วยให้ตีไกลยิ่งขึ้น ข้อมูลจาก Asian Tour บอกว่าระยะไดร์ฟเฉลี่ยของโปรแจ๊สอยู่ที่ราว ๆ 295.18 หลา ในปี 2019 ซึ่งนับว่าไม่ขี้เหร่เลยสำหรับการแข่งขันในทัวร์ระดับโลก นอกจากนั้น โปรแจ๊สสามารถใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาในการเพิ่มระยะไดร์ฟให้กับตนเองได้ เช่นเดียวกับที่ Rory McIlroy ที่สูงเท่ากับโปรแจ๊สที่ 175 ซม. แต่เข้าฟิตเนสสร้างกล้ามเนื้อที่จำเป็นจนมีระยะไดร์ฟเฉลี่ยรั้งอันดับ 2 ของ PGA Tour ในปัจจุบันที่ 315.3 หลา ด้วยเหตุนี้ หากโปรแจ๊สสามารถ Qualify เข้าไปเล่นใน PGA Tour ได้ ผมเชื่อว่าเขาจะมีโอกาสคว้าแชมป์ในทัวร์ดังกล่าวได้อย่างแน่นอน และอาจกรุยทางไปสู่แชมป์เมเจอร์ที่ยังไม่มีนักกอล์ฟชายไทยคนใดทำได้มาก่อนด้วยเช่นกัน

 

3.โปรแจ๊สมีสถิติการตีแม่นกรีนอันดับต้น ๆ ของ Asian Tour และ Japan Tour

          สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดของการทำสกอร์ในการแข่งขันกอล์ฟทุกระดับ คือ การพาลูกกอล์ฟขึ้นไปออนบนกรีนให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก และนั่นคือสิ่งที่โปรแจ๊สทำได้ดีมากกว่านักกอล์ฟส่วนใหญ่ใน Asian Tour & Japan Tour ฤดูกาล 2019 นี้ สถิติบอกว่าโปรแจ๊สสามารถตีขึ้นไปออนกรีนเพื่อพัตต์เบอร์ดี้ (Green in Regulation) เช่น พาร์ 4 ทำ 2 ออน, พาร์ 5 ทำ 3 ออน) ได้มากกว่า 76.06% (อันดับ 7 ใน Asian Tour) และ 73.02% (อันดับ 2 ใน Japan Tour) ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าโปรแจ๊สมีฟอร์มการเล่นเหล็กที่คมกริบ และสามารถพัฒนาต่อยอดได้อีกเมื่อต้องปรับรูปแบบการเล่นให้เข้ากับทัวร์ที่ใหญ่มากยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาสถิติของยอดนักกอล์ฟที่ประสบความสำเร็จในเมเจอร์แล้วจะพบว่าแทบทุกคนมีสถิติ Green in Regulation ที่ยอดเยี่ยม โดนเฉพาะนักกอล์ฟที่คว้าแชมป์เมเจอร์ในฤดูกาล 2019 ล้วนแล้วแต่ติด 10 อันดับแรกของ PGA Tour ทั้งสิ้น ได้แก่ Tiger Woods (GIR อันดับ 3), Brooks Koepka (GIR อันดับ 7) และ Gary Woodland (GIR อันดับ 8) สิ่งนี้บ่งบอกว่าการจะประสบความสำเร็จในการเล่นกอล์ฟระดับเมเจอร์ นอกจากระยะไดร์ฟที่ต้องไกลพอประมาณแล้ว เหล็กที่คมกริบก็เป็นสิ่งที่ช่วยตัดสินระหว่างแชมป์กับนักกอล์ฟคนอื่น ๆ ซึ่งผมเชื่อว่าทักษะที่โปรแจ๊สมีอยู่ในปัจจุบันจะกลายเป็นจุดเด่นที่บรรดา Commentator พูดถึงเมื่อเขาเข้าไปเล่นใน PGA Tour อย่างเต็มตัว

 

4.โปรแจ๊สมีความมั่นใจและผลงานที่น่าสนใจในการเล่นกอล์ฟระดับเมเจอร์

          เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โปรแจ๊สสร้างเซอร์ไพรซ์ให้กับแฟนกอล์ฟชาวไทยเมื่อทำสกอร์จบรอบที่ 3 ของเมเจอร์ PGA Championship ขึ้นมารั้งอันดับสอง ตามหลัง Brooks Koepka 7 สโตรค แม้ว่าจะมีไม่มีโอกาสไล่ทัน แต่หากโปรแจ๊สสามารถจบการแข่งขันได้ด้วยอันดับดี ๆ ก็จะทำให้ได้สิทธิลงแข่งขันในอีกหลายรายการทั้ง The Masters และ US Open รวมทั้งสะสมคะแนนให้ได้อันดับที่ดีขึ้นใน President Cup ที่ออสเตรียเลียปลายปีนี้ แม้ว่าน่าเสียดายที่โปรแจ๊สจะต้านทานความยากของสนามในวันสุดท้ายไว้ไม่ได้ แต่ก็ทำให้เราเห็นว่าจากประสบการณ์เล่นกอล์ฟรายการเมเจอร์เพียงแค่ 2 รายการ โปรแจ๊สทำสกอร์ได้ดีในสภาพสนามที่เซ็ทไว้ยากและท้าทาย ในระดับที่แม้กระทั่ง Tiger Woods ยังพลาดท่าตกรอบ แสดงให้เห็นว่าโปรแจ๊สมีเกมที่ครบเครื่อง สามารถเล่นในสภาพสนามที่แฟร์เวย์แคบ ต้องทีออฟให้ทั้งแม่นยำและได้ระยะ ที่สำคัญที่สุดคือต้องทำ Green in Regulation ให้มีโอกาสได้ทำสกอร์ทุกหลุม

นับว่าต้องจับตามองผลงานของโปรแจ๊สในการแข่งขันเมเจอร์สุดท้ายของปี The Open Championship 2019 ที่สนาม Royal Portrush ประเทศไอร์แลนด์เหนือ ระหว่าง 18 – 21 กรกฎาคม 2019 นี้ว่าอาจจะมีอะไรตื่นตาตื่นใจให้แฟนกอล์ฟชาวไทยได้ลุ้นกันอีกหรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่าการเล่นได้สิทธิเล่นในรายการเมเจอร์ 3 รายการในฤดูกาลนี้ของโปรแจ๊สจะเป็นประสบการณ์อันดีเยี่ยมที่ช่วยทำให้เขาได้เรียนรู้รูปแบบการเล่นในรายการระดับเมเจอร์ การได้แข่งขันภายใต้สภาวะกดดันของกอล์ฟรายการใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเชื่อเหลือเกินว่าในวันหนึ่งเราอาจจะได้เห็นวงสวิงที่มีท่วงทำนองเปี่ยมด้วยความมั่นใจ และความฝันแบบดนตรีแจ๊ส หวดลูกขึ้นไปบนกรีนหลุมสุดท้ายและเดินเข้าสู่คลับเฮาส์ในฐานะว่าที่แชมป์เมเจอร์

          ผมเชื่อว่าวันนั้นจะต้องมาถึงในสักวันหนึ่ง หลังจากเราเห็นความสำเร็จที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นจากโปรเม – เอรียา จุฑานุกาล มาแล้ว เพราะกีฬากอล์ฟสอนให้ประจักษ์ว่าไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้

คลิกชมคลิปผลงานรอบที่ 3 อันยอดเยี่ยมของโปรแจ๊สในรายการ PGA Championship เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

 

อ่านบทความที่น่าสนใจอื่น ๆ 

ประวัติ จีน อาฒยา ฐิติกุล นักกอล์ฟสมัครเล่น หมายเลข 1 ของโลก

5 เหตุผลที่ ‘จีน’ อาฒยา ฐิติกุล จะเป็นนักกอล์ฟไทยหมายเลข 1 ของโลกคนต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://en.wikipedia.org/wiki/Jazz_Janewattananond

https://www.pgatour.com/players/player.47238.jazz-janewattananond.html

https://asiantour.com/player-detail/?player=109064

https://www.jgto.org/pc/PlayerTourStatsEng.do?playerCd=15801&playerKbnCd=0

http://www.europeantour.com/europeantour/players/playerid=39871/

Tags: โปรแจ๊ส อติวิชญ์ เจนวัฒนานนท์, JAZZ JANEWATTANANOND, โปรแจ๊ส อติวิชญ์, ประวัติ โปรแจ๊ส อติวิชญ์ เจนวัฒนานนท์, ประวัติแจส เจนวัฒนานนท์, ประวัติโปรแจ๊ส นักกอล์ฟ