รอรี่ แมคอิลรอย – กอล์ฟคือเรียนรู้จากความผิดพลาด

Embed from Getty Images

 

กอล์ฟคือเกมกีฬาแห่งความผิดพลาด

 

ในชั่วชีวิตมนุษย์ปุถุชน ไม่ว่าจะมีวันเวลาที่รุจโรจน์หรือตกต่ำเพียงใด สิ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้คือ ความผิดพลาด เพราะมนุษย์มิใช่สมองกลที่นักประดิษฐ์ออกแบบมาเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของตนเอง ดังนั้นแม้จะเตรียมตัวมาอย่างเปี่ยมความมั่นใจหรือมีความสามารถชนิด Born to be มากแค่ไหน ก็ยังอาจต้องพานพบกับความพลาดพลั้งอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์

 

รอรี่ แมคอิลรอย (Rory McIlroy) ย่อมตระหนักดีถึงสัจธรรมข้อนี้ โดยเฉพาะในวันที่เขายืนมองความฝันของตนเองค่อยๆ เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าไปทางธารน้ำเล็กๆ ที่เรียกว่า Rae’s creek แห่งสนามออกัสตา เนชั่นนัล แล้วก็จมดิ่งลงไปใต้ผืนน้ำอันมืดมิดพร้อม ๆ กับความหวังอันแหลกสลายของเขา

 

ความล้มเหลวในเดอะมาสเตอร์ รายการแข่งขันกอล์ฟระดับเมเจอร์แรกของปีเมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ.2011 ทำให้บรรดานักวิจารณ์กอล์ฟประจำสำนักต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Golf Channel หรือ PGA Tour ต่างให้ความเห็นต่างๆ นานาทั้งแง่บวก และแง่ลบต่อรอรี่ แมคอิลรอย บ้างก็ตั้งคำถามว่าเขาจะต้องใช้เวลานานสักเพียงใดในการพักฟื้นสภาพจิตใจภายหลังอกหักจากเดอะมาสเตอร์

 

ในขณะที่ในสังคมออนไลน์ เช่น Facebook และกระดานสนทนาในเว็บไซต์หลักของพีจีเอทัวร์ก็หลากหลายไปด้วยนานาทรรศนะของผู้ชมกอล์ฟทั่วโลก ทว่าที่ร้ายสุดคือมีแฟนกอล์ฟบางคนที่ไม่เพียงแต่ข้ามคนล้ม หากยังใช้เท้าขยี้จิตใจอย่างไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ถึงกระนั้นก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อมั่นในรอรี่ แมคอิลรอย หนึ่งในนั้นคือ แมกซ์ เดวิดสัน คอลัมน์นิสต์ประจำนิตยสารเดอะเทเลกราฟท์ สื่อรายใหญ่แห่งสหราชอาณาจักร

 

เดวิดสันกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “ถ้ารอรี่ แมคอิลรอยเป็นคนอเมริกัน ผมจะหวาดกลัวแทนเขา เพราะอเมริกันไม่ยอมรับผู้พ่ายแพ้ หรือผู้ที่ตกม้าตายในตอนท้าย”

 

แม้ความเห็นนี้จะค่อนข้างเป็นส่วนตัวอยู่มาก (ชาตินิยมพอประมาณ เพราะรอรี่เป็นชาวไอริช) ทว่าก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า ทัศนคติของแฟนกอล์ฟอเมริกัน และยุโรปนั่นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สังเกตได้จากการแข่งขันกอล์ฟประเพณีประเภททีมรายการไรเดอร์คัพ ซึ่งจัดทุก ๆ สองปี ผู้ชมชาวไทยที่ติดตามชมกอล์ฟมานานคงจะสัมผัสได้ถึงความมีมารยาทสูง และน้ำใจนักกีฬาของกองเชียร์ฝ่ายยุโรป ในขณะที่ฝ่ายอเมริกันจะเน้นความสะใจมากจนบางครั้งก็ทำให้ผู้เล่นเสียสมาธิ สิ่งนี้เองที่ทำให้รอรี่ แมคอิลรอย ซึ่งมีถิ่นเกิดอยู่ที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ มีความแตกต่างจากนักกอล์ฟอเมริกัน โดยเฉพาะความอ่อนน้อมถ่อมตน

 

นอกจากนี้ เดวิดสันยังแสดงออกถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อรอรี่อย่างเต็มเปี่ยม ดังเช่นที่เขาทิ้งท้ายในบทความไว้ว่า

 

“ในเกมกีฬาดุจชีวิตคน ความพลาดพลั้งนั้นใกล้ชิดดั่งเครือญาติ มันขึ้นอยู่กับการที่เราจะจัดการกับความล้มเหลวนั้นอย่างไร นี่คือส่วนสำคัญ และผมก็รักวิธีการที่รอรี่ใช้ควบคุมความผิดพลาดของเขาหลังจากจบรายการเดอะมาสเตอร์ ไม่กี่นาทีถัดจากเสร็จสิ้นรอบสุดท้ายอันเลวร้าย เขาได้ยืดอกให้สัมภาษณ์อย่างกล้าหาญ, เยือกเย็น และน่าสงสาร ไม่ฟูมฟาย ไม่โทษโน่นโทษนี่ เพียงแค่สัญญาว่าจะเรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งนี้ และทำให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต”

 

 

นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ใครๆ ต่างหลงรักรอรี่ แมคอิลรอย เด็กหนุ่มวัย 22 ปีในขณะนั้น ที่ทุกคนต่างพร้อมใจกล่าวกันว่าเขาเป็นผู้ใหญ่เกินตัว และมีความสุขุม เยือกเย็นมากกว่านักกอล์ฟรุ่นพี่เสียอีก

 

ตั้งแต่เข้าสู่วงการกอล์ฟ รอรี่ แมคอิลรอย ได้รับการคาดหวังจากแฟนกอล์ฟทั่วโลกอย่างมากมายว่าสักวันหนึ่งเขาจะต้องกลายมาเป็นนักกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากไทเกอร์ วูดส์ ผู้เป็นแรงบันดาลใจ และบุคคลต้นแบบของเขา เนื่องจากทั้งคู่มีสไตล์การเล่นกอล์ฟที่เหมือนกัน ดุดัน กล้าได้กล้าเสีย และมีจิตวิญญาณของเพชฌฆาต ซึ่งหมายความว่าสามารถทำได้ดั่งใจในช่วงเวลาที่ต้องทำ อีกทั้งรอรี่ยังมีวงสวิงที่สมบูรณ์แบบชนิดที่นักกอล์ฟอาชีพด้วยกันยังอิจฉา แม้จะสูงเพียง 178 เซนติเมตร แต่วงสวิงที่รักษาเกลียวและสมดุลของร่างกายไว้ได้เต็มที่ส่งผลให้รอรี่ตีลูกได้ไกล ไม่แพ้นักกอล์ฟที่บ่มเพาะกล้ามเนื้อมานาน คุณสมบัติข้างต้นสร้างความเชื่อมั่นให้หลายคนฟันธงว่าในอนาคตอันใกล้ รอรี่ แมคอิลรอย จะสามารถก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของวงการกอล์ฟโลกในที่สุด

 

เว้นไว้แต่อุปสรรคเดียว คือความสามารถในการเล่นกอล์ฟภายใต้สภาวะกดดัน…

 

ปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้ไทเกอร์ วูดส์ กลายเป็นนักกอล์ฟผู้ยิ่งใหญ่ภายในเวลาอันรวดเร็ว คือเขาไม่เคยเล่นผิดพลาดเมื่อเป็นผู้นำหลังจากจบวันที่สามในการแข่งขันกอล์ฟรายการใหญ่ระดับเมเจอร์ นั่นทำให้เขาสามารถคว้าแชมป์เมเจอร์ได้ถึง 14 รายการในระยะเวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่แล้วมนุษย์ก็คือเหยื่อแห่งความไม่แน่นอน เมื่อไทเกอร์เสียสถิติให้กับ หยาง ยอง อึน (Y.E. Yang) ในรายการพีจีเอ แชมเปี้ยนชิพ เมื่อสองปีก่อน ถึงกระนั้นการยืนหยัดอยู่ท่ามกลางสภาพกดดันที่เดิมพันด้วยศักดิ์ศรี เกียรติยศก็ยังเป็นเรื่องท้าทายของโปรดของพญาเสือ

 

ทว่าอาจไม่ใช่สำหรับเด็กหนุ่มจากไอร์แลนด์เหนือ อย่างน้อยก็ในวันสุดท้ายที่สนามออกัสตา เนชั่นนัล ปี 2011

 

ก่อนการแข่งขันวันสุดท้ายของเดอะมาสเตอร์ บรรดานักวิจารณ์ของพีจีเอทัวร์ต่างให้ความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการเล่นภายใต้สภาพกดดันของรอรี่ ซึ่งหลายคนก็เชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถจัดการกับความตื่นเต้นแล้วเดินขึ้นกรีนหลุมสุดท้ายในฐานะผู้ชนะได้ การณ์เกือบเป็นเช่นนั้น หากรอรี่ไม่เล่นผิดพลาดในเก้าหลุมหลังของรอบสุดท้ายในลักษณะของโดมิโน กล่าวคือเมื่อไม่สามารถเล่นได้ดั่งใจต้องการ ความมั่นใจก็ค่อยๆ ลดลง สภาพจิตใจส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้ออันนำไปสู่สถานการณ์เช่นเดียวกับคนสิ้นหวังในชีวิต ไม่รู้จะเล่นเพื่ออะไร ในเมื่อโอกาสที่จะเป็นแชมป์ได้หลุดลอยไปแล้ว

 

รอรี่ แมคอิลรอย ปล่อยให้ความฝันถูกคนอื่นแย่งชิงไปต่อหน้าต่อตา โดยที่เขาไม่สามารถทำอะไรได้ เช่นเดียวกับ เกรก นอร์แมน ที่ขึ้นนำถึง 6 สโตรค ก่อนจะพลาดโอกาสสวมกรีนแจ็คเก็ตซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้กับ นิค ฟัลโด ในเดอะมาสเตอร์ปี 1996 แต่จวบจนทุกวันนี้ทุกคนก็ยังจดจำ ‘ฉลามขาวผู้ยิ่งใหญ่’ ในฐานะสุดยอดตำนานนักกอล์ฟคนหนึ่งแห่งยุค แม้ว่าชื่อเสียงในการเล่นพังในวันสุดท้ายของเขาก็ยังได้รับการกล่าวขานเช่นกัน บางคนก็อาจคิดเช่นกันว่ารอรี่คงจะเป็นเหมือนกับนักกอล์ฟที่พลาดหวังในรายการเมเจอร์บ่อยๆ อย่างนอร์แมน และฟิล มิคเคลสัน เพราะเขาไม่สามารถคุมตัวเองภายใต้สภาวะกดดันได้

 

สิ่งนี้มีเพียงรอรี่ แมคอิลรอย เท่านั้นที่รู้ เขาไม่แลกพิมเสนกับเกลือด้วยคำพูด แต่เลือกที่จะตอบโต้คำวิจารณ์แง่ลบด้วยการฝึกซ้อมอย่างหนัก เพื่อหาโอกาสแก้ตัวอีกครั้งในรายการยูเอส โอเพิ่น เมเจอร์ที่สองของปีเดียวกันนั้นเอง ณ สนามคอนเกรสชันนัล คันทรีคลับ มลรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา 

 

ยู เอส โอเพิ่น  (US OPEN) ปี 2011 ดูเหมือนจะขาดสีสันไปบ้างเนื่องจากการประกาศถอนตัวของไทเกอร์ วูดส์ ซึ่งยังคงมีอาการบาดเจ็บเรื้อรังมาตั้งแต่การเล่นช็อตแก้ไขแบบพิสดารที่เดอะมาสเตอร์ อย่างไรก็ตามก็มีสิ่งทดแทนจนแทบจะเรียกได้ว่า เทียบเท่ากับไทเกอร์ในช่วงที่ฟอร์มการเล่นสุดยอดอย่างไร้ข้อแตกต่าง

 

รอรี่ แมคอิลรอย ถูกรัศมีของนักกอล์ฟร่วมชาติรุ่นพี่อย่าง แกรม แมคดาวน์ แชมป์เก่าป้องกันตำแหน่ง บดบังก่อนเริ่มการแข่งขันวันแรก ทว่าเมื่อสิบแปดหลุมแรกจบไป ชื่อของรอรี่ที่อยู่บนสุดของกระดานคะแนนก็สามารถเรียกความสนใจจากสื่ออย่างรวดเร็ว เขาสามารถเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมในสภาพสนามสุดยากอันเป็นเอกลักษณ์ของยูเอส โอเพิ่น ทั้งๆ ที่ไม่ได้เล่นในรอบฝึกซ้อม เนื่องจากติดภารกิจในการเดินทางไปเฮติในฐานะทูตยูนิเซฟ ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูเฮติจากการภัยพิบัติแผ่นดินไหวเมื่อเดือนมกราคม ปี 2010

 

ในรอบที่สอง รอรี่ยังคงรักษาฟอร์มการเล่นได้ดีต่อเนื่อง แม้ว่าจะตีตกน้ำในหลุมสุดท้ายทำให้พลาดเสียดับเบิลโบกี้ แต่สกอร์ของเขาก็ยังทำลายสถิติต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ยูเอส โอเพิ่น ที่ 11 อันเดอร์พาร์ และเขายังคงเดินหน้าสร้างระยะห่างระหว่างนักกอล์ฟคนอื่นๆ ที่ทำสกอร์ไล่เข้ามาในรอบที่สาม จนเมื่อพัตพาร์หลุมสุดท้ายลงไป รอรี่มีคะแนนนำทิ้งห่างอันดับสองถึง 8 สโตรค มุ่งหน้าสู่รอบสุดท้าย…

 

แน่นอน ทุกสายตาจับจ้องอยู่ที่ 18 หลุมสุดท้ายของรอรี่ แมคอิลรอย ความผิดพลาดเมื่อเดือนเมษายนจะตามกลับมาหลอกหลอนเขาหรือไม่ ความกดดันมหาศาลที่เกิดจากบรรยากาศของการแข่งขันเมเจอร์ ความเก่าแก่ ตำนานอันยาวนาน และมนต์ขลังของกอล์ฟ ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือสิ่งที่รอรี่ต้องรับมือหลังจากที่ลืมตาดูโลกมาเพียงแค่ยี่สิบสองปี

 

แล้วในที่สุด ตำนานบทใหม่ก็ถูกเขียนขึ้นอีกครั้งในบ่ายวันอาทิตย์ ณ สนามคอนเกรสชั่นนัล

 

รอรี่ แมคอิลรอย ถอดหมวก ก้าวเดินไปตามแฟร์เวย์มุ่งหน้าสู่กรีนหลุมสุดท้ายท่ามกลางเสียงตะโกนร้องเรียกชื่อเขา กองเชียร์อเมริกันที่ชาตินิยมจัด และเคยเลือกข้างอย่างชัดเจน บัดนี้กำลังยืนปรบมือที่เรียกว่า Standing Ovation ให้กับเด็กหนุ่มชาวไอริช ผู้กำลังจะกลายเป็นแชมป์ยูเอส โอเพิ่น ที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 88 ปี แม้ว่าเมื่อปีกลายเขาจะพาทีมยุโรปเอาชนะทีมอเมริกาได้ในการแข่งขันไรเดอร์คัพก็ตาม

 

ไม่มีใครรู้ว่าในใจรอรี่คิดอะไรเมื่อพัตสุดท้าย แล้วตรงเข้าสวมกอดพ่อ-บุคคลที่ทำให้เขามีวันนี้ แต่สิ่งที่ทุกคนรู้ดีคือบัดนี้เด็กหนุ่มผู้เคยพลาดพลั้งได้ผงาดขึ้นสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เป็นที่เรียบร้อย

 

เขาให้สัมภาษณ์ภายหลังการแข่งขันว่า เขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และใช้มันต่อสู้กับสภาวะความกดดัน จนกลายมาเป็นนักกอล์ฟคนแรกในรอบหลายปีที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับไทเกอร์ วูดส์ ผู้ที่รอรี่เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเอาชนะให้ได้สักวันหนึ่ง และหลายคนก็เชื่อมั่นว่าเขาอาจทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ

 

วันนี้ แม้ทุกคนจะลืมรอบสุดท้ายอันล้มเหลวของรอรี่ แมคอิลรอยที่เดอะมาสเตอร์ แต่รอรี่จะไม่มีวันลืมมันอย่างแน่นอน เพราะมันคือบทเรียนที่สำคัญที่สุดของเขา โมงยามนี้รอรี่ได้ก้าวขึ้นมาบนเส้นทางเกียรติยศแห่งกอล์ฟแล้ว หนทางอีกยาวไกล และเขาจะย่างก้าวอย่างมั่นคงเนื่องจากความผิดพลาดในอดีตสอนให้เขารู้ว่า อะไรควรและอะไรไม่ควรทำ

 

มิใช่เพียงแค่ในเกมการเล่นในสนาม แต่หมายถึงแฟร์เวย์ชีวิตนอกสนามกอล์ฟด้วยเช่นกัน

 

เสฏฐวุฒิ อุดาการ (Golfistathai) เรียบเรียง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ Golfistathai ได้ที่ Fanpage ‘Golfista แฟร์เวย์ชีวิต‘